ITA คืออะไร
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment)

หากจะว่าไปแล้ว การวัดหรือประเมินระดับการทุจริตคอร์รัปชันดูจะเป็นเรื่องยากที่สุดในกระบวนการศึกษาวิจัยเรื่อง การต่อต้านทุจริต (Anti-Corruption Study) คำถามที่ว่า ทำไมเราต้องวัดหรือประเมินระดับการคอร์รัปชันนั้น คำตอบที่ได้ คือ หากเราไม่วัด เราก็ไม่มีทางรู้ว่า สังคมเรามีปัญหาคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน 20 ปีมาแล้ว ที่องค์กรความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International ได้สร้างตัวชี้วัดระดับการทุจริตขึ้นมา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Corruption Perception Index (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนภาพลักษณ์ระดับการคอร์รัปชันของประเทศต่าง ๆ ในโลก CPI ทำให้เรารู้ว่า ประเทศใดที่มีรัฐบาลโปร่งใส การบริหารงานเต็มไปด้วยธรรมาภิบาล ตรวจสอบได้ และมีผู้พร้อมแสดงความรับผิดชอบเมื่อกระทำผิด (Accountability)ในทำนองเดียวกัน CPI ทำให้เราทราบว่า ประเทศใดมีปัญหาด้านความโปร่งใส มีรัฐบาลขี้โกง มีระบบราชการที่ฉ้อฉล มีนักการเมืองขี้ฉ้อ เพราะสิ่งที่ว่ามานี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น
สำหรับประเทศไทยแล้ว รัฐเองพยายามสร้างตัวชี้วัดความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index หรือ TI) โดย ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อปี พ.ศ.2552 ศูนย์วิจัยป๋วยฯ เริ่มพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ พร้อม ๆ กับการศึกษาแนวคิดการประเมินคุณธรรมการดำเนินงาน (Integrity Assessment หรือ IA) จนกระทั่งปี พ.ศ.2554 ศูนย์วิจัยป๋วยฯ ดำเนินการวัดความโปร่งใสของหน่วยงานนำร่องภาครัฐ โดยเฉพาะส่วนราชการในส่วนกลางที่ “อาสา” มาให้วัดระดับความโปร่งใส ต่อมานักวิจัยนำดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐมาปรับรวมกับ Integrity Assessment ซึ่งใช้ประเมินคุณธรรมการดำเนินงานจนกลายเป็นดัชนีตัวใหม่ที่เรียกว่า Integrity & Transparency Assessment (ITA) ดัชนี ITA เรียกเต็ม ๆ ว่า การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยหอการค้าเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำดัชนี ITA เป็นส่วนผสมระหว่าง TI และ IA และเรียกรวม ๆ กันว่าเป็น Thailand Integrity & Transparency Assessment เหตุที่ต้องใช้ว่า Thailand นำหน้าด้วยก็เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันทุจริตคอร์รัปชันที่มีเอกลักษณ์เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ๆ กรอบแนวคิดการประเมินของ ITA มีทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ (1) ประเมินความโปร่งใส (Transparency) (2) ประเมินความรับผิดชอบ (Accountability) (3) ประเมินการทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption) (4) ประเมินวัฒนธรรมคุณธรรม (Integrity Culture) และ (5) ประเมินคุณธรรมการทำงาน (Work Integrity) การสร้างกรอบแนวคิดการประเมินขึ้นก่อนนี้ ทำให้การประเมินมีทิศทางชัดเจน แม้เราจะมองว่า การวัดคุณธรรมเป็นเรื่องยากเพราะคุณธรรมเป็นนามธรรม (Abstract) มากกว่าจะจับต้องได้ อย่างไรก็ดี คุณธรรมที่ถูกประเมินนี้ วัดได้จาก วัฒนธรรมองค์กร การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในองค์กร ขณะที่คุณธรรมการทำงานก็พิจารณาจาก การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ และความเป็นธรรมในการมอบหมายงาน
ITA เป็นดัชนีที่พยายามสร้างออกมาให้เป็นรูปธรรมเท่าที่ผู้ประเมินจะทำได้ เพราะหลังจากการดำเนินการแล้ว ผู้ประเมินจะคำนวณคะแนนคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐโดยรวมออกมา ค่าดัชนี ITA อยู่ระหว่าง 0-100 …ถ้าหน่วยงานใดมีค่าระดับ ITA เข้าใกล้ 100 แสดงว่าหน่วยงานนั้น มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานสูงมาก ขณะที่ค่า ITA เข้าใกล้ 0 ก็แสดงว่า หน่วยงานรัฐนั้นมีระดับความโปร่งใสของการดำเนินงานและคุณธรรมต่ำมาก
ปัจจุบัน เกณฑ์การให้ค่าคะแนน ITA แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สูงมาก (80-100) สูง (60-79.99) ปานกลาง (40-59.99) ต่ำ(20-39.99) และต่ำมาก (0-19.99) การรวบรวมข้อมูลการประเมินมีที่มาทั้งจากบุคคลภายนอก บุคคลภายใน เก็บหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Base) และใช้ข้อมูลตัวชี้วัดที่หน่วยงานอื่นรวบรวมและดำเนินการเป็นดัชนี อาจกล่าวได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. พยายามพัฒนาและปรับปรุงตัวชี้วัดเพื่อประเมินความโปร่งใสและคุณธรรมของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนี ITA จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ “ผู้เห็นคุณค่า” ของมันนำไปกำหนดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ กำหนดพื้นที่ความเสี่ยงสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เช่น สตง. ซึ่งหากทำได้จะเป็นการ “บูรณาการการต่อต้านคอร์รัปชัน” ที่ไม่ได้เป็นแค่เพียง “วาทกรรม” หรู ๆ แต่ทำอะไรไม่ได้จริง การต่อต้านคอร์รัปชันมิใช่ การต่อต้านด้วยวาทกรรมแบบ “ไร้เดียงสา” ที่มองว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นแค่เรื่องของคนชั่วเพียงอย่างเดียว… พฤติการณ์คอร์รัปชันมีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับ การวางกลไกควบคุม ล้อมกรอบ และจำกัดปัญหาไม่ให้ลุกลามบานปลาย โดยอาศัยความรู้เป็นเครื่องนำทาง มิใช่เอาแต่อารมณ์เคียดขึ้งชิงชังป็นตัวนำ … เพราะการใช้ “สติปัญญา” ในการแก้ปัญหา คือที่มาของการแก้ปัญหาของสังคมที่เจริญแล้ว